โครงการประชุมวิชาการระดับปริญญาตรีด้านคอมพิวเตอร์ภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ ๔ (The 4 th ASEAN Undergraduate Conference in Computing: AUC2 2016)

กิจกรรมคณะ 0 Comment

หลักการและเหตุผล

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญและส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้ง ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมด้านโอกาสและภัยคุกคาม ประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยี ได้ช้าจะกลายเป็นผู้ซื้อและมีผลิตภาพต่ำ ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ จึงเป็นความท้าทายในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งเป้าหมายยุทธศาสตร์ของกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย (IT 2010 Conceptual Framework) ที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ซึ่งต้องใช้บุคลากรด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีคุณภาพเป็นจำนวนมาก
มหาวิทยาลัยของประเทศไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจึงได้มีการเปิดสอนหลักสูตรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นจะเป็นตัวช่วยในการพัฒนาบุคลากรทางด้านนี้ให้มีคุณภาพได้ เนื่องจากหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นจะต้องมีกระบวนการหรือกลไกต่าง ๆ เพื่อช่วยพัฒนาความรู้และทักษะของผู้เรียน ดังเช่น การกำหนดให้นักศึกษาต้องเรียนรายวิชาโครงการนักศึกษา หัวข้อพิเศษ การศึกษาเอกเทศ หรืองานวิจัยด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะการวิเคราะห์ ออกแบบ และพัฒนาโปรแกรมจากระบบงานจริงหรือบทความวิจัยที่อ้างอิงได้ เมื่อนักศึกษาได้ดำเนินการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามกรอบแนวคิดที่ได้กำหนดไว้แล้ว จะต้องมีเวทีสำหรับการนำเสนอผลงานดังกล่าวต่อสาธารณะ ทั้งนี้เพื่อ (๑) เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ระหว่างมหาวิทยาลัยที่มีการทําโครงการนักศึกษา หัวข้อพิเศษ การศึกษาเอกเทศ หรืองานวิจัยด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (๒) เป็นการจุดประกายความคิดในการพัฒนาโครงการด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับนักศึกษารุ่นน้อง (๓) เป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของผลงานด้านคอมพิวเตอร์ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี และ (๔) เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับ “ว่าที่บัณฑิต” ที่จะสำเร็จการศึกษาออกไปปฏิบัติงานจริงในการสรุปและนำเสนอผลงานของตนเอง
จากหลักการและเหตุผลดังกล่าว จึงมีแนวคิดเกี่ยวกับการจัดงานประชุมเชิงวิชาการเพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลงาน ช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการวิจัยและกระตุ้นให้นักศึกษาพัฒนาผลงานทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้นักศึกษาเกิดการพัฒนาคุณภาพและเพิ่มพูนความรู้อย่างลึกซึ้งในผลงานที่พัฒนา นำไปสู่การพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ ภายใต้แนวคิดดังกล่าวจึงได้มีการจัดโครงการประชุมวิชาการระดับปริญญาตรีด้านคอมพิวเตอร์ภูมิภาคอาเซียน (The ASEAN Undergraduate Conference in Computing) หรือ AUC2 Conference ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า Mini CSIT Conference จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยความร่วมมือของ ๗ สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี เป็นเจ้าภาพ และได้มีการทำความร่วมมือกับ ๒๔ สถาบัน ได้แก่
๑. มหาวิทยาลัยบูรพา ๑๓. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
๒. มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ๑๔. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
๓. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ๑๕. มหาวิทยาลัยรามคำแหง
๔. มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ๑๖. มหาวิทยาลัยศิลปากร
๕. มหาวิทยาลัยศรีปทุม ๑๗. มหาวิทยาลัยขอนแก่น
๖. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ๑๘. มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
๗. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ๑๙. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
๘. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ๒๐. มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
๙. มหาวิทยาลัยนเรศวร ๒๑. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
๑๐. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ๒๒. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
รัตนโกสินทร์
๑๑. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ๒๓. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า
ลาดกระบัง พระนครเหนือ
๑๒. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ศรีวิชัย ๒๔. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
จากความร่วมมือดังกล่าว ทำให้การประชุมวิชาการฯ ได้เปลี่ยนชื่อจาก Mini CSIT Conference เป็นการจัดประชุมวิชาการระดับปริญญาตรีด้านคอมพิวเตอร์ภูมิภาคอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำหรับการรวบรวม เผยแพร่ผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนทางวิชาการของนักศึกษาระดับปริญญาตรีในศาสตร์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ คอมพิวเตอร์ศึกษา และสาขา ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคอาเซียน รองรับการหลอมรวมกันของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ๑๐ ประเทศ (ไทย พม่า ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และบรูไน) เป็นประชาคมเดียวกัน (ASEAN Community: AC) ซึ่งจะมาถึงในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ นี้ และเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษานำความรู้ทางวิชาการต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษาในระดับปริญญาตรี มาพัฒนาเป็นโครงงานและงานวิจัยทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพ และทักษะในการผลิตผลงานของนักศึกษาเพื่อนำไปสู่ผลงานในระดับมาตรฐานสากล
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ได้มีการทำความร่วมมือกับอีก ๘ สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และในปีการศึกษา ๒๕๕๙ นี้ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้วได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมวิชาการระดับปริญญาตรีด้านคอมพิวเตอร์ภูมิภาคอาเซียน โดยคณะวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดประชุมวิชาการฯ ดังกล่าว ในครั้งนี้มีมหาวิทยาลัยให้ความสนใจทำความร่วมมือเพิ่มเติมอีก ๓ สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็กเจ้าพระยา รวมเป็น ๓๕ สถาบัน ในฐานะที่มหาวิทยาลัยฯ ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพหลัก จะส่งผลให้นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับโอกาส ในการเผยแพร่และนำเสนอผลงานของตนต่อผู้อื่น พัฒนาทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์ที่จำเป็นต่อการจัดทำโครงงาน พัฒนาบุคลิกภาพในการนำเสนอ ฝึกการวางแผน และการทำงานร่วมกับผู้อื่น เป็นการเตรียมความพร้อมในการประกอบวิชาชีพทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และก่อให้เกิดพลังที่สร้างสรรค์ มีการพัฒนาผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่องซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคม ประเทศชาติ และเป็นการพัฒนานักศึกษาทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศในภูมิภาคอาเซียนให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในประชาคมโลกอีกด้วย

วัตถุประสงค์

๑) เพื่อเป็นเวทีสำหรับการเผยแพร่ผลงานและแลกเปลี่ยนทางวิชาการของนักศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในภูมิภาคอาเซียน
๒) เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การทําโครงการหรืองานวิจัยด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างนักศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และอาจารย์ที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน
๓) เพื่อให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ในการนําเสนอโครงการหรือผลงานวิจัยด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในที่ประชุมวิชาการ
๔) เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และพัฒนาทักษะการทำโครงงานหรือวิจัยด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างนักศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ กับหน่วยงานผู้ผลิตหรือให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

ผู้รับผิดชอบโครงการ

นายพงช์ศนัญ ชาญชัยชิณวรฒ์ ส่วนงาน สำนักงานจัดการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์

สถานที่ดำเนินงาน

มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว

กำหนดการจัดโครงการ

เดือนกุมภาพันธ์ – เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙

ผู้เข้าร่วมโครงการ

กลุ่มผู้รับบริการ
ผู้เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอผลงานวิจัย ผู้นำเสนอผลงานวิจัย และผู้เข้าร่วมทำกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ ทั้งบุคลากรภายในเครือข่ายและบุคคลทั่วไปจำนวน ๑,๐๐๐ คน
ผลงานที่เข้าร่วมนำเสนอ จำนวน ๒๕๐ ผลงาน
พื้นที่/ชุมชนเป้าหมาย
คณาจารย์ นิสิต นักศึกษาทั้งสถาบันในเครือข่ายฯ และนอกเครือข่าย ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

Leave a comment





@Faculty of Science and Social Sciences.
All rights reserved.
คณะวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว
254 ม.4 ถ.สุวรรณศร ต.วัฒนานคร
อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว 27160
โทรศัพท์ 038-102-222 ต่อ 4053

Back to Top