สาขาวิชาการโลจิสติกส์และการค้าชายแดน

ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย : หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และการค้าชายแดน
ภาษาอังกฤษ : Bachelor of Business Administration Program in Logistics Cross and Border Trade Management
ชื่อปริญญา
ชื่อปริญญาภาษาไทย : บริหารธุรกิจบัณฑิต (การจัดการโลจิสติกส์และการค้าชายแดน)
ชื่อปริญญาภาษาอังกฤษ : Bachelor of Business Administration (Logistics Cross and Border Trade Management)
อักษรย่อภาษาไทย : บธ.บ. (การจัดการโลจิสติกส์และการค้าชายแดน)
อักษรย่อภาษาอังกฤษ : B.B.A. (Logistics Cross and Border Trade Management)
อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา
สามารถประกอบอาชีพด้านการจัดการการค้าชายแดน หรือการค้าระหว่างประเทศ เช่นหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก การนำเข้า การจัดซื้อหรือจัดหาต่างประเทศ การขายต่างประเทศการตลาดต่างประเทศ การประสานงานต่างประเทศ
ด้านการจัดการโลจิสติกส์ เช่น หน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับ การผลิต การควบคุมวัตถุดิบ การจัดซื้อ การจัดการคลังสินค้า การขนส่ง การควบคุมสินค้าคงคลัง การกระจายสินค้าระหว่างประเทศในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน และการประกอบธุรกิจส่วนตัว
ปรัชญา
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต
สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และการค้าชายแดนเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพควบคู่กับการมีคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณ เพื่อสอดคล้องและตอบสนองกับยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ในการพัฒนาประเทศไทย
ความสำคัญ
จากประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ ในยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมโดยมีกลยุทธ์การพัฒนาบุคลากรในธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ทั้งในด้านทักษะภาษาต่างประเทศและความรู้ด้านบริหารจัดการโลจิสติกส์ เพื่อความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางการค้าในยุคใหม่มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน ซึ่งประเทศไทยนั้นมียุทธศาสตร์ประเทศด้านการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและยั่งยืน โดยการส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลที่มีการส่งเสริมและสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งเรื่องข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน ที่ประเทศไทย มีแนวคิดที่จะปรับตัวให้สามารถเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ โดยเห็นได้จากนโยบายต่าง ๆ ทั้งทางด้านกฎหมาย การทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ การส่งเสริมการลงทุน การสร้างและพัฒนาท่าอากาศยานและท่าเทียบเรือ และการมุ่งเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน รวมไปถึงกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น ที่ยังคงมีความต้องการสินค้าอุปโภคและบริโภคในปริมาณมาก ประกอบกับนโยบายการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดสระแก้ว ที่มีขอบเขตพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการขนส่งระหว่าประเทศ โดยเป็นจังหวัดในลำดับต้นๆ ที่รัฐบาลหยิบยกขึ้นมาพัฒนาไม่ว่าจะเป็นในด้าน ผังเมือง สาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับภาคเอกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้ามาลงทุน การพัฒนาบุคลากรด้านการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง การเปิดจุดผ่านแดนถาวร/ชั่วคราว และจุดผ่อนปรน เพื่อให้มีการค้าขาย นำเข้าและส่งออกสินค้าต่าง ๆ สามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศไทยอย่างมาก
ทางคณะวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาเขตสระแก้ว เล็งเห็นแนวโน้มการขยายตัวด้านการค้าชายแดนและโลจิสติกส์ รวมถึงนโยบายในด้านการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน จึงร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ วิทยาเขตจันทบุรี จัดทำหลักสูตรสาขาวิชาการจัดการการค้าชายแดนและ โลจิสติกส์ขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของภาครัฐและเอกชนรวมถึงชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ที่สามารถทำการค้าชายแดน นอกจากนี้ยังเป็นการผลิตบัณฑิตให้มีความรู้และความสามารถด้านการจัดการโลจิสติกส์และการค้าชายแดน เพื่อออกไปปฏิบัติงานรับใช้สังคมและประเทศชาติ เพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป
วัตถุประสงค์
เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแล้ว บัณฑิตจะมีสมรรถนะ ดังนี้
1. ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และความสามารถ ด้านการค้าชายแดนและโลจิสติกส์
2. ผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน และเข้าใจภาษาเพียงพอที่จะสื่อสารได้
3. ผลิตบัณฑิตให้มีความรู้และความสามารถ ในเชิงวิเคราะห์ มีกรอบความคิด มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนสามารถแก้ปัญหา และนำความรู้ไปประยุกต์ในด้านการค้าชายแดนและโลจิสติกส์ได้
4. ผลิตบัณฑิตที่มีความเป็นผู้นำ มีคุณธรรมและจริยธรรม มีความใฝ่รู้และพัฒนาตนอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับของสังคม เพื่อคุณภาพชีวิต และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
โครงสร้างหลักสูตร
จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 135 หน่วยกิต
1) หมวดวิชาศึกษาทั่วไป 30 หน่วยกิต
2) หมวดวิชาเฉพาะ 99 หน่วยกิต
2.1) วิชาแกน 34 หน่วยกิต
2.2) วิชาเอก 77 หน่วยกิต
2.2.1) วิชาบังคับ 45 หน่วยกิต
2.2.2) วิชาเลือก 32 หน่วยกิต
2.3) วิชาโท (ถ้ามี) หน่วยกิต
3) หมวดวิชาเลือกเสรี ไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต
รายละเอียดเพิ่มเติม
คุณสมบัติผู้สมัคร
คุณสมบัติทั่วไป
1. เป็นผู้สำเร็จการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการ
2. เป็นผู้ที่มีความประพฤติดี
3. ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่จะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
ระดับปริญญาตรี ภาคปกติ (4 ปี)
เป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ หรือเทียบเท่าในแผนการเรียน วิทย์ – คณิต หรือ ศิลป์ – คำนวณ หรือแผนการเรียนที่เกี่ยวข้อง โดยต้องเรียนวิชาด้านคณิตศาสตร์ไม่น้อยกว่า 9 หน่วยกิต
ค่าธรรมเนียมการศึกษา




@Faculty of Science and Social Sciences.
All rights reserved.
คณะวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว
254 ม.4 ถ.สุวรรณศร ต.วัฒนานคร
อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว 27160
โทรศัพท์ 038-102-222 ต่อ 4053

Back to Top